วิธีการทำหนังสือเดินทางในประเทศไทย

วิธีการทำหนังสือเดินทางในประเทศไทย

ขั้นตอนและการอธิบายการทำหนังสือเดินทางในประเทศไทย

หนังสือเดินทาง หรือที่เรียกกันว่า Passport สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศนั้น เป็นเอกสารที่จำเป็น และ Passport ก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในเล่มของ Passport ก็จะมีข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีเอกสารทำพาสปอร์ต เช่น ชื่อผู้เดินทาง ลายมือชื่อรูปถ่าย อายุ สัญชาติ และการที่เรามีเล่มของหนังสือเดินทางนั้น ก็เป็นอีกหลักฐานในการขอหนังสือลงตรา หรือที่เรียกว่า Visa

ประเภทของหนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทางทูต เป็นหนังสือเดินทางสำหรับนักการทูตและข้าราชการการเมือง เพื่อใช้เดินทางไปราชการต่างประเทศเท่านั้น ตัวเล่มจะมีสีแดงสด

หนังสือเดินทางราชการ เป็นหนังสือเดินทางสำหรับข้าราชการ สำหรับเดินทางไปราชการนั้นๆ ตัวเล่มจะเป็นเล่มสีน้ำเงิน

หนังสือเดินทางยกเว้นค่าธรรมเนียม เป็นหนังสือเดินทางสำหรับข้าราชการเกษียณอายุ, พนักงานของรัฐ และข้าราชการที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยทุนส่วนตัว หรือไปฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ จะเป็นเล่มสีน้ำตาล

หนังสือเดินทาง เป็นหนังสือเดินทางสำหรับประชาชนทั่วไป หรือข้าราชการ และพนักงานของรัฐ ก็สามารถใช้ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศแบบส่วนตัว เช่นเพื่อการท่องเที่ยวเป็นต้น ตัวเล่มจะเป็นสีเลือดหมู

ทํา passport ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

สำหรับการขอทำหนังสือเดินทาง Passport สำหรับประชาชนทั่วไป ที่อายุเกิน 20 ปีขึ้นไป จะต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอทำหนังสือเดินทาง ได้แก่

บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับจริง ในกรณีที่เป็นบัตรข้าราชการให้นำสำเนาทะเบียนบ้านมาด้วย

ในกรณีที่เคยมีการเปลี่ยนชื่อ หรือวันเดือนปีเกิด ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ

สำหรับค่าธรรมเนียมในการทำ Passport เล่มใหม่ ต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

เอกสารที่ต้องเตรียม กรณีที่ผู้ยื่นขออายุต่ำกว่า 15 ปี

สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นฉบับสำเนาก็ต้องได้รับการรับรองจากเขตหรืออำเภอ

บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทยของบิดา มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง และหากชื่อ-นามสกุล บิดา มารดา ในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย

หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา มารดา ในกรณีที่บิดา มารดา หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้ ในวันทำ Passport

เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา 

ส่วนในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณี บิดา มารดา ของผู้เยาว์เสียชีวิต, กรณีที่บิดา มารดา ของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส, กรณีที่ไม่สามารถตามหา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตร อยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง

เอกสารที่ต้องเตรียม กรณีที่ผู้ยื่นขออายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

กรณีหากเป็นผู้เยาว์ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก็สามารถขอทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง โดยจะต้องเตรียมเอกสาร ได้แก่

บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ หรือบัตรประจำตัวที่ใช้แทนตามกฎกระทรวงมหาดไทย

หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

เอกสารอื่นๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรมใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา

วิธีการยื่นทำ Passport

รับบัตรคิว

ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก หากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดง พร้อมเอกสารหลักฐานอื่น เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ทะเบียนสมรส 

วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ซ้าย และนิ้วชี้ขวาด้วยเครื่องสแกนเนอร์ และถ่ายรูปใบหน้า

แจ้งความประสงค์ หากต้องการขอรับเล่มทางไปรษณีย์ จะมีค่าส่ง 40 บาท

ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท พร้อมด้วยค่าส่งไปรษณีย์ หากต้องการให้จัดส่ง

รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่มตามวันที่

ทำ Passport กี่วันได้

สำหรับการรับเล่มของหนังสือเดินทางนั้น จะมีระยะเวลาในการออกเอกสาร ขึ้นอยู่กับสถานที่ ที่ได้ไปทำ และวิธีการรับ

ยื่นที่กรมการกงสุล สามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการ ไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

ยื่นที่สำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ จะได้รับหนังสือเดินทางภายใน 2 วันทำการ ไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ

กรณียื่นคำร้องที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัดและขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ จะได้รับหนังสือเดินทางภายใน 5 วันทำการ

สำหรับผู้ขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ แนะนำให้มารับเล่มด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ถือหนังสือเดินทางมีความคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ

หากไม่สามารถไปรับเล่ม Passport เองได้ สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับเล่ม Passport แทนได้ หรือจะให้จัดส่งทางไปรณีย์